การกำกับดูแลกิจการที่ดี เกี่ยวกับเรา กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีและกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท
share

เกี่ยวกับทิพยประกันชีวิต


กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีและกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท

บริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการหรือ Corporate Governance ด้วยเชื่อว่าการบริหารงานที่ยึดถือหลักความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ปราศจากการคอร์รัปชั่น รวมถึงการมีความรับผิดชอบและให้ความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มนั้น เป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งจะนำมาสู่ผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นใจ และความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัตินโยบายการกำกับดูแลกิจการ รวมถึงจรรยาบรรณและจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัท เพื่อให้กรรมการและพนักงานทุกคนยึดถือเป็น แนวทางในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้มีการดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐานในระดับสากลและถูกต้องตามหลักกฎหมาย รวมถึงเป็นไปตามแนวปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับของหน่วยงานกากับดูแลธุรกิจอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้หลักการและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่บริษัทฯ ยึดถือมาตลอดนั้น แบ่งเป็น 5 หมวด ได้แก่

1. สิทธิของผู้ถือหุ้น

บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้ถือหุ้น ได้แก่ สิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น สิทธิในการมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมและให้สิทธิในการออกเสียงแทน โดยเน้นหลักการในเรื่องของความเป็นอิสระและเท่าเทียม โดยบริษัทฯได้มีการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานให้กับผู้ถือหุ้นเพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอต่อการพิจารณาในแต่ละวาระก่อนการประชุมตามเวลาอันสมควร การให้สิทธิในการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการเป็นรายบุคคล สิทธิในการออกเสียงลงคะแนน แต่งตั้งและกำหนดสินจ้างผู้สอบบัญชีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในกิจการต่างๆ ที่สำคัญสิทธิในการรับเงินปันผล สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและซักถามในการประชุมผู้ถือหุ้น สิทธิในการกำหนดหรือแก้ไขข้อบังคับบริษัทฯ และหนังสือบริคณห์สนธิ พิจารณาเรื่องการลดทุนหรือเพิ่มทุน และการอนุมัติธุรกรรมที่สำคัญและมีผลต่อทิศทางในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทฯยังสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นทุกรายเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น โดยจัดส่งหนังสือเชิญประชุมพร้อมด้วยวาระและเอกสารประกอบการประชุมให้แก่ ผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 14 วันก่อนวันประชุม โดยรายงานการประชุมจะมีข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) เนื้อหาการประชุมอย่างถูกต้องครบถ้วน

(2) รายชื่อกรรมการผู้เข้าร่วมประชุมและกรรมการที่ลาประชุม

(3) คำถามคำตอบในประเด็นที่มีผู้ถือหุ้นซักถามและผลการลงคะแนนในแต่ละวาระ

ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท

2. การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

บริษัทฯ ได้คำนึงถึงการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นว่า คณะกรรมการบริษัทและฝ่ายจัดการจะบริหารจัดการงบประมาณอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความมั่นใจของผู้ถือหุ้น ดังนั้นจึงมีการกำกับดูแลให้ผู้ถือหุ้นได้รับการปฏิบัติและปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้กล่าวไว้แล้วในหลักข้อแรกอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้กรรมการบริษัทและผู้บริหารทำการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียของตนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คณะกรรมการสามารถพิจารณาธุรกรรมของบริษัทฯ ที่อาจมีความขัดแย้งของผลประโยชน์ และสามารถตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ โดยรวม ทั้งนี้กรรมการบริษัทและผู้บริหารที่มีส่วนได้เสียกับธุรกรรมที่ทำกับ บริษัทฯ จะไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทำธุรกรรมดังกล่าว

3. บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้พนักงาน คู่แข่งทางการค้า และสังคม โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวตามกฎหมายหรือตามข้อตกลงที่มีกับบริษัทฯ และไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นดังนี้

    • ผู้ถือหุ้น บริษัทฯ มุ่งมั่นให้มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้ถือหุ้นและ การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน คณะกรรมการบริษัท ต้องอำนวยความสะดวก แก่ผู้ถือหุ้นเพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิต่างๆ ได้อย่างเต็มที่
    • ลูกค้า บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องการเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้าของบริษัทฯ คณะกรรมการบริษัท และพนักงานทุกคนจึงต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรม
    • คู่ค้า และ/หรือ เจ้าหนี้บริษัทฯ จะปฏิบัติต่อคู่ค้า และ/หรือ เจ้าหนี้ตามเงื่อนไขการค้าและปฏิบัติตามสัญญา โดยประพฤติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดีและไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริต
    • พนักงาน บริษัทฯ มีนโยบายผลตอบแทนและสวัสดิการที่เป็นธรรม พร้อมเสนอโอกาสในการฝึกอบรมหาความรู้เพิ่มเติม รวมถึงการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงาน
    • คู่แข่งทางการค้า บริษัทฯ จะประพฤติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดีและไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริต เพื่อทำลายคู่แข่งทางการค้า
    • สังคม ในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายนั้น ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และยึดมั่นในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของคนในสังคม ตลอดจนขนบธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่น ตามแนวนโยบายของบริษัทฯ ที่ให้การสนับสนุน ทั้งในด้านกิจกรรมเพื่อสังคม การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
    • การไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ บริษัทจะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญหาหรือลิขสิทธ์ิของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมถึงกำหนดนโยบายการใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมั่นคงปลอดภัย โดยให้ซอฟต์แวร์ใดๆ ที่นำมาใช้ในระบบสารสนเทศของบริษัท ต้องได้รับอนุญาตและมีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

4. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

บริษัทฯ มีนโยบายและถือแนวทางปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียมั่นใจในการดำเนินงานที่มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้โดยการ เปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส ผ่านช่องทางที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีความเท่าเทียมกันและน่าเชื่อถือ เช่น การเปิดเผยข้อมูลฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานในแต่ละไตรมาสบนเว็บไซต์ www.dhipayalife.co.th การเผยแพร่รายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทต่อรายงานทางการเงินควบคู่กับรายงานของผู้สอบบัญชีรวมทั้งการเปิดเผยบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยไว้ในรายงานประจำปี

5. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น และพึงหลีกเลี่ยงปัญหาในเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์เพื่อระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯโดยรวม โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้ถือหุ้นกลุ่มใด หรือรายใดมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลบริษัทฯ ในการกำหนดนโยบายการดูแลให้มีกระบวนการบริหารจัดการที่เหมาะสม มีระบบการติดตามตรวจสอบให้ปฏิบัติตามนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อพึงปฏิบัติที่ดี ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลได้ประกาศใช้‌